เจอกันWeekที่ 9 แล้วนะครับ วันนี้จะมาแนะนำคณะวิทยาศาสตร์ และแบ่งออกเป็นสาขาต่างๆดังนี้
คณะวิทยาศาสตร์
วิทยาศาสตร์ เป็นศาสตร์ที่ว่าด้วยความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติ ซึ่งมนุษย์สะสมมาแต่อดีต จวบจนปัจจุบันและต่อไปถึงอนาคตอย่างไม่รู้จักจบสิ้น เริ่มแต่ธรรมชาติรอบ ๆ ตัว จากองค์ประกอบที่เล็กที่สุด ไปจนถึงใหญ่ที่สุดในเอกภพ ในแง่ที่ว่าสิ่งต่าง ๆ ในธรรมชาติมีความเป็นมาอย่างไร สัมพันธ์กันหรือไม่ ลำดับการพัฒนาเป็นอย่างไร มีระเบียบแบบแผนและหลักเกณฑ์หรือไม่ การเรียนวิทยาศาสตร์อาศัยรากฐานของการสังเกต การตั้งสมมติฐาน โดยใช้หลักปรัชญาและตรรกวิทยา พยายามสังเกตและวัดปริมาณเป็นตัวเลขออกมา เพื่อความแม่นยำ โดยอาศัยหลักทางคณิตศาสตร์ ดังนั้นส่วนสำคัญของการเรียนวิทยาศาสตร์ คือ การเรียนเกี่ยวกับเทคนิคในการสังเกตและการทดลอง ผนวกกับการประยุกต์ความรู้ทางคณิตศาสตร์
คณะวิทยาศาสตร์ แบ่งสาขาการเรียนออกเป็น สาขาต่าง ๆ ดังนี้
1. สาขาวิชาคณิตศาสตร์ ศึกษาเกี่ยวกับคณิตศาสตร์บริสุทธิ์และคณิตศาสตร์ประยุกต์ โดยเน้นทั้งในด้านทฤษฎีและการนำไปใช้ เน้นหนักการศึกษาเพื่อให้รู้คุณค่าของคณิตศาสตร์ในการคิด มีเหตุผลทั้งในแง่ของวิทยาศาสตร์ และศิลปศาสตร์ สามารถนำไปประยุกต์ในการดำเนินงานวิชาการสาขาต่าง ๆ ได้มาก
2. สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ ศึกษาเกี่ยวกับหลักการเขียนโปรแกรมและการประมวลผลข้อมูลด้วยคอมพิวเตอร์ ระบบสารสนเทศ การวิเคราะห์และออกแบบ ระบบการจัดการฐานข้อมูล ระบบควบคุมการดำเนินงานสถาปัตยกรรมคอมพิวเตอร์ การสื่อสารข้อมูลและข่ายงานคอมพิวเตอร์
3. สาขาวิชาเคมี ศึกษาเน้นหนักด้านความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับสมบัติทางกายภาพและทางเคมีของสารอนินทรีย์และสารอินทรีย์ ตั้งแต่ระดับอะตอมถึงระดับโมเลกุล เพื่อให้ผู้เรียนเคมีสามารถศึกษาขั้นสูงต่อไป และนำไปประยุกต์ในการประกอบอาชีพเกี่ยวกับเคมีในทางอุตสาหกรรมทั้งหลายได้
4. สาขาวิชาฟิสิกส์ เป็นวิชาพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์สำคัญยิ่งวิชาหนึ่งที่หยั่งลึกลงไปในธรรมชาติของสสาร และพลังงาน
5. สาขาวิชาชีววิทยา จะศึกษาเน้นทางด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งมีชีวิตตั้งแต่ระดับเซลล์จนถึงระดับชีวิต และสภาพแวดล้อมที่มีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่
6. สาขาวิชาสัตววิทยา จะศึกษาเน้นหนักเกี่ยวกับสัตววิทยาทั่วไป อนุกรมวิธานสัตว์ วิวัฒนาการของสัตว์ สัตว์ภูมิศาสตร์ กายวิภาคเปรียบเทียบสัตว์คอร์เดท สัตว์มีและไม่มีกระดูกสันหลัง สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์ปีก สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และวิชาเฉพาะเกี่ยวกับพฤติกรรมของสัตว์และสรีรวิทยาสัตว์ จุลกายวิภาคศาสตร์ การพัฒนาตัวอ่อน ฮอร์โมน พยาธิของสัตว์ รวมทั้งวิธีการเก็บรักษาตัวอย่างสัตว์ด้วยการทำสไลด์ถาวร การดองใสสัตว์ และการสตัฟฟ์สัตว์
7. สาขาวิชาพฤกษศาสตร์ เน้นหนักเกี่ยวกับรูปร่างลักษณะการเจริญเติบโต การดำรงชีวิต การสืบพันธุ์ การขยายพันธุ์ ความสัมพันธ์ของพืชกับสิ่งแวดล้อม วิวัฒนาการของพืช การจัดจำแนกหมวดหมู่พันธุ์ไม้ ตลอดจนการใช้ประโยชน์ทางเกษตรกรรม อุตสาหกรรม เภสัชกรรม
8. สาขาวิชาพันธุศาสตร์ เน้นหนักเกี่ยวกับการถ่ายทอดกรรมพันธุ์ ความแตกต่างของลักษณะที่มีสาเหตุเนื่องมาจากสารพันธุกรรมทั้งในคน สัตว์ และ พืช ตลอดจนศึกษาเชิงพฤติกรรมของสารพันธุกรรมระดับโมเลกุล และโครงสร้างของสารเหล่านั้น ความรู้ในสาขาวิชานี้ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการแนะนำ ป้องกันและรักษาโรคที่เนื่องมาจากพันธุกรรมของคนและสัตว์ อีกทั้งนำไปปรับปรุงพันธุ์พืชเพื่อเพิ่มผลผลิต ตลอดจนใช้ปรับปรุงคุณภาพของวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมการเกษตร และการเภสัช
9. สาขาวิชาเคมีวิศวกรรม เน้นหนักใน 2 สาย คือ
สายเคมีวิศวกรรม ซึ่งเรียนเกี่ยวกับการควบคุมการผลิตเคมีภัณฑ์ และเครื่องอุปโภคบริโภค ที่ต้องใช้กระบวนการเคมี ตลอดจนการออกแบบและการควบคุมการทำงานของเครื่องจักรกลในโรงงานอุตสาหกรรม เช่น เครื่องปฏิกรณ์เคมี หอกลั่นลำดับส่วน เครื่องต้มระเหย เครื่องแลกเปลี่ยนความร้อน และ
สายเทคโนโลยีทางเชื้อเพลิง ศึกษาด้านอุตสาหกรรมน้ำมันก๊าชธรรมชาติ เชื้อเพลิงแข็ง และพลังงานในรูปแบบอื่น ๆ การประหยัดพลังงานในโรงงานอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเชื้อเพลิงและพลังงาน
10. สาขาวิชาธรณีวิทยา เน้นหนักเกี่ยวกับทรัพยากรธรณี เช่น แร่ หิน เชื้อเพลิงธรรมชาติ น้ำ ตลอดจนวัสดุก่อสร้างทั้งการสำรวจ และพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติ และศึกษาเกี่ยวกับโลกทั้งทางเคมีและภายภาพ เช่นแผ่นดินไหว ธรณีเคมี
11. สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ทั่วไป เน้นการศึกษาเพื่อให้มีความรู้ทางวิทยาศาสตร์หลายสาขาวิชา เป็นการศึกษาแบบบูรณาการ
12. สาขาวิทยาศาสตร์ทางทะเล เน้นเกี่ยวกับธรรมชาติ สภาพแวดล้อมของท้องทะเลและมหาสมุทร ตลอดจนการนำทรัพยากรจากท้องทะเลมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ แบ่งเป็น 2 สายวิชา คือ สมุทรศาสตร์สกายะและเคมี และสายชีววิทยาทางทะเลและประมง
13. สาขาวิชาชีวเคมี ศึกษาเกี่ยวกับชีวเคมีพืช ชีวเคมีสัตว์ ชีวเคมีสิ่งแวดล้อม ชีวเคมีประยุกต์ในการเกษตรและอุตสาหกรรม และชีวเคมีทั่วไป ซึ่งเป็นวิชาที่กล่าวถึงโครงสร้าง สมบัติ การทำงานและการเปลี่ยนแปลงทางเคมีของชีวโมเลกุลในพฤติกรรมต่าง ๆ ของสิ่งมีชีวิต
14. สาขาวิชาวัสดุศาสตร์ ศึกษา 2 ทาง คือ
ทางเซรามิกส์ ซึ่งเน้นกระบวนการผลิตวัสดุภัณฑ์ ตลอดจนการใช้งานของผลิตภัณฑ์และอุตสาหกรรมด้านวัสดุคาบเกี่ยว อีกทางหนึ่ง คือ
ทางโพลีเมอร์ ซึ่งเน้นกระบวนการในอุตสาหกรรมด้านโพลีเมอร์ เส้นใย สิ่งทอ พลาสติก สี และวัสดุเคลือบผิวต่าง ๆ
15. สาขาวิชาจุลชีววิทยา ศึกษาเกี่ยวกับจุลินทรีย์ ได้แก่ รา แบคทีเรีย และไวรัส โดยนำไปประยุกต์ใช้ในทางอุตสาหกรรม การเกษตร การอาหาร การแพทย์ และการสาธารณสุข ตลอดจนปรับปรุงมลภาวะและสภาพแวดล้อม
16. สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ทางภายถ่าย และเทคโนโลยีทางการพิมพ์ ศึกษาทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติในการถ่ายภาพ และเทคโนโลยีการพิมพ์
17. สาขาวิชาเทคโนโลยีทางอาหาร มี 2 สายได้แก่
สายเทคโนโลยีทางอาหาร ศึกษาเกี่ยวกับกระบวนการแปรรูปและการถนอมอาหาร โดยให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพสูง และ
สายเทคโนโลยีทางชีวภาพ ศึกษาเกี่ยวกับการผลิตสารชีวเคมี ซึ่งได้จากสิ่งมีชีวิต และการนำเอาชีวเคมีไปประกอบในอุตสาหกรรมอาหาร การผลิตเอนไซม์ และการผลิตสารปฏิชีวนะ
18. สาขาวิชาสถิติ ศึกษาเกี่ยวกับสถิติทั้งทฤษฎีและประยุกต์ในสาขาอาชีพต่าง ๆ โดยศึกษาเกี่ยวกับการวางแผนการทดลอง การสุ่มตัวอย่าง สถิติควบคุมคุณภาพ การวิจัยดำเนินการ สถิติประกันภัย สถิติธุรกิจ การวิเคราะห์และประมวลผลข้อมูลด้วยคอมพิวเตอร์
19. สาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ ศึกษาสุขภาพอนามัยและการสาธารณสุขทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ โดยทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับวินิจฉัยชุมชน การวางแผนงาน การดำเนินงาน การตรวจสอบ และการประเมินผลงาน ตลอดจนสามารถเป็นผู้นำและผู้ประสานงานด้านสุขภาพอนามัยและการสาธารณสุข อีกทั้งสามารถพัฒนาตนเองด้านวิชาการในระดับสูงต่อไป เน้นหนักเกี่ยวกับโครงสร้างและระบบการทำงานของร่างกายมนุษย์ กระบวนการเกิดโรค การระบาดของโรค และปัจจัยทางด้านสิ่งแวดล้อมที่มีผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของมนุษย์ ชุมชน และอุตสาหกรรมรวมถึงกระบวนการเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่ใช้ในการควบคุมป้องกัน รักษาและส่งเสริมสุขภาพอนามัย
20. สาขาวิชาเทคโนโลยีชนบท ศึกษาในด้านเทคโนโลยีชนบท เพื่อช่วยส่งเสริม พัฒนา ดัดแปลง เสริมสร้างเครือข่ายและขบวนการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เหมาะสม อันจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาชนบทต่อไป หลักสูตรจะอยู่ในรูปของสหวิชา ที่ผสมผสานระหว่างเทคโนโลยี เศรษฐศาสตร์ สังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะทำให้ผู้เรียนมีความรู้ความสามารถในการวิเคราะห์ คัดเลือก ให้คำแนะนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อใช้ในการพัฒนาชนบท ในสายวิชาพัฒนาแหล่งน้ำ แรงงานโยธา เครื่องจักรกลการเกษตร อุตสาหกรรมขนาดย่อมและพลังงานชนบท อีกทั้งมีความรู้ที่จะนำเทคโนโลยีไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาสังคมอย่างเหมาะสม
21. สาขาวิชารังสีประยุกต์และไอโซโทป ศึกษาเกี่ยวกับความรู้พื้นฐานทางนิวเคลียร์ รังสีสุขภาพ และการป้องกัน เทคนิคการวัดรังสี ชีววิทยารังสี รังสีชีวิตและสิ่งแวดล้อม เทคนิคการถ่ายภาพด้วยรังสี รังสีและการกลายพันธุ์ การวิเคราะห์โดยวิธีทางนิวเคลียร์ การใช้รังสีและไอโซโทปในการเกษตร เวชศาสตร์นิวเคลียร์ เป็นต้น